วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2562

วันพุธที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2562
เวลาเรียน 08.30-12.30 น.
วิชา การจัดประสบการณ์คณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย
รหัสวิชา EAED2203
ผู้สอน อาจารย์ ดร.จินตนา สุขสำราญ

ครั้งที่ 2

เนื่องจากวันนี้เป็นวันครูซึ่งทางคณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมจึงได้มีการจัดกิจกรรมวันครู มีชื่องานกิจกรรมว่า ‘‘ครูของพระราชาร่วมสืบสานพระปณิธาน’’ โดยมี 4 สาขาวิชา สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย สาขาจิตวิทยา สาขาเทคโนโลยีการศึกษา และ สาขาพลศึกษาได้จัดซุ้ม ทำกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับวันครู

ภาพกิจกรรม





ความหมายของครู

          ครู หมายถึง ผู้สั่งสอนศิษย์ หรือ ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ ซึ่งมีผู้กล่าวว่ามาจากคำว่า ครุ (คะ-รุ) ที่แปลว่า "หนัก" อันหมายถึง ความรับผิดชอบในการอบรมสั่งสอนของครูนั้น นับเป็นภาระหน้าที่ที่หนักหนาสาหัสไม่น้อย กว่าคน ๆ หนึ่งจะเติบโตเป็นผู้มีวิชาความรู้ และเป็นคนดีของสังคม ผู้เป็น "ครู" จะต้องทุ่มเทแรงกายและแรงใจไม่น้อยไปกว่าพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดเลย ซึ่งในชีวิตของคน ๆ หนึ่ง นอกเหนือไปจากพ่อแม่ซึ่งเปรียบเสมือน "ครูคนแรก" ของเราแล้ว การที่เด็ก ๆ จะดำรงชีพต่อไปได้ในสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี "ครู" ที่จะประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ เพื่อปูพื้นฐานไปสู่หนทางทำมาหากินในภายภาคหน้าด้วย ดังนั้น "ครู" จึงเป็นบุคคลสำคัญที่เราทุกคนควรจะได้แสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อท่าน

พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการสร้างคน

พระราชปณิธานในการส่งเสริมการพัฒนาการฝึกหัดครู ครู และผู้บริหารการศึกษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยการฝึกหัดครูเป็นอันมาก ดังพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่คณะข้าราชการที่รับผิดชอบต่อการฝึกหัดครูและคณะข้าราชการกรมการฝึกหัดครูที่เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๓ ตอนหนึ่งว่า "…โดยที่ครูต่างทำตัวให้เป็นครูที่น่าเคารพแม้จะฝืดเคืองก็ยังกัดฟันสอนและแจกจ่ายความรู้ออกไปดังนี้ก็จะได้ความเคารพจากศิษย์และการสอนก็จะง่ายขึ้น แต่ว่าต้องวางตัวให้เป็นครูที่แท้ การฝึกหัดครูจะต้องย้ำในข้อนี้ว่า ถ้าครุทำตัวเป็นครูจะทำให้ลูกศิษย์นับถือเป็นทุน แต่ว่าถ้าทิ้งความเป็นครูโดยที่ท้อใจ โดยที่ยอมแพ้สถานการณ์ก็ทำให้ลูกศิษย์มีความเคารพไม่ได้และสอนไม่ได้…ขอให้ทุกคนพยายามรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของการเป็นครูแล้วถ่ายทอดให้แก่ครูที่ฝึกหัดอยู่เท่าที่จะทำได้ เพื่อให้บ้านเมืองเป็นบ้านเมือง ให้ประชาชนพลเมืองเป็นคน คือมีความรู้และมีจิตใจที่สูง ไม่เบียดเบียนกัน จะทำให้ส่วนรวมอยู่ได้เป็นปึกแผ่น ทั้งครูทั้งหลายก็จะนับว่าได้ทำหน้าที่อย่างกล้าหาญ อย่างฉลาดและจะเป็นความดีเป็นส่วนรวมของคณะครู…หน้าที่ที่ไม่ใช่หน้าที่ราชการหรือหน้าที่ที่ได้รับเงินเดือนตอบแทน แต่หน้าที่ในฐานะมนุษยชน เมื่อทำแล้วจะมีความพอใจได้ใช้ชีวิตในทางที่ถูก ก็การใช้ชีวิตที่ถูกนั้นอาจไม่รวยแต่จิตใจรวย…"

ประวัติวันครู


วันครูได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ พ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภาเป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษาและวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ ควบคุม จรรยาและวินัยของครูรักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัว ได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู
ด้วยเหตุนี้ในทุกปี คุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และชักถามปัญหาข้อข้องใจต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบข้อสงสัย สถานที่ ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา
ปี พ.ศ. 2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า "ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณ เป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมี สักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพ สักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับ คนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละ ทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง"
จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่นๆ ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึก ถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดี เพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมากในปีเดียวกันที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีจึงได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติเห็นควรให้มีวันครูเพื่อเสนอ คณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครูและเพื่อส่งเสริม ความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน
การจัดงานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าวได้ ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงานวันครูนี้ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญคือ หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างเป็นถาวรวัตถุ
การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลา ในปัจจุบันได้จัดรูปแบบ การจัดงานวันครูจะมีกิจกรรม 3ประเภทหลักดังนี้
1.กิจกรรมทางศาสนา
2.พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตน การกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์
3.กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬาหรือการจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น

ความหมายของดอกไม้ต่าง ๆ ที่นิยมใช้ในการไหว้ครู


ดอกมะเขือ เป็นดอกที่โน้มต่ำลงมาเสมอ ไม่ได้เป็นดอกที่ชูขึ้น คนโบราณจึงกำหนดให้เป็นดอกไม้สำหรับไหว้ครู ไม่ว่าจะเป็นครูดนตรี ครูมวย ครูสอนหนังสือ ก็ให้ใช้ดอกมะเขือนี้ เพื่อศิษย์จะได้อ่อนน้อมถ่อมตนพร้อมที่จะเรียนวิชาความรู้ต่าง ๆ นอกจากนี้มะเขือยังมีเมล็ดมาก ไปงอกงามได้ง่ายในทุกที่ เช่นเดียวกับ หญ้าแพรก


หญ้าแพรก เป็นหญ้าที่เจริญงอกงาม แพร่กระจายพันธ์ ไปได้อย่างรวดเร็วมาก หญ้าแพรกดอกมะเขือจึงมีความหมายซ่อนเร้นอยู่ คนโบราณจึงถือเอาเป็นเคล็ดว่า ถ้าใช้หญ้าแพรกดอกมะเขือไหว้ครูแล้ว สติปัญญาของเด็กจะเจริญงอกงามเหมือนหญ้าแพรกและ ดอกมะเขือนั่นเอง


ข้าวตอก เนื่องจากข้าวตอกเกิดจากข้าวเปลือกที่คั่วด้วยไฟอ่อน ๆ ให้ร้อนเสมอกันจนถึงจุดหนึ่งที่เนื้อข้างในขยายออก จนดันเปลือกให้แยกออกจากกัน ได้ข้าวสีขาวที่ขยายเม็ดออกบาน ซึ่งสามารถนำไปประกอบพิธีกรรม หรือทำขนมต่าง ๆ ได้ ดังนั้น ข้าวตอกจึงเป็นสัญลักษณ์ของความมีระเบียบวินัย หากใครสามารถทำตามกฎระเบียบ เอาชนะความซุกซนและความเกียจคร้านของตัวเองได้ ก็จะเหมือนข้าวตอกสีขาวที่ถูกคั่วออกจากข้าวเปลือก


ดอกเข็ม เพราะดอกเข็มนั้นมีปลายแหลม สติปัญญาจะได้แหลมคมเหมือนดอกเข็ม และก็อาจเป็นได้ว่า เกสรดอกเข็มมีรสหวาน การใช้ดอกเข็มไหว้ครู วิชาความรู้จะให้ประโยชน์กับชีวิต ทำให้ชีวิตมีความสดชื่นเหมือนรสหวานของดอกเข็ม


หมายเหตุ ขาดเรียนจึงไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น